เรื่อง : เกษร สิทธิหนิ้ว
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
คัดลอกจากนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 240 กุมภาพันธ์ 2548
|
 |
ถ้าให้บอกชื่อสัตว์น้ำจืดในประเทศไทยมาสัก ๑๐ ชนิด คุณจะตอบว่าอะไรบ้าง ?
กุ้ง หอย ปู ปลา ตัวอ่อนชีปะขาว น่าจะอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่เรานึกออก แต่คำตอบพวกนั้นมันออกจะธรรมดาไป ใคร ๆ ก็รู้
ความจริงแล้ว ในน้ำจืดยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก น้อยคนนักที่จะเคยเห็น และก็ไม่แน่ว่า เห็นแล้วจะบอกได้ว่ามันคือสัตว์ชนิดใด
แมงกะพรุนน้ำจืด--คุณรู้จักไหม ? แมงกะพรุนไม่ได้มีอยู่แต่ในทะเลเท่านั้นหรอกนะ
ดังนั้นเมื่อได้ยินว่ามีการพบแมงกะพรุนในแม่น้ำสายหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ พวกเราก็เลยตื่นเต้นกันใหญ่
“ถ้าพวกคุณอยากเห็น ต้องรีบมาเลยนะครับ ไม่อย่างนั้นต้องรอปีหน้า” เสียงว่ามาตามสาย กำชับว่าถ้าปีนี้พลาด ก็ไม่แน่ว่าปีหน้าจะได้เห็นหรือไม่
สองวันถัดมา เราพากันมาอยู่กลางลำน้ำเข็ก สายน้ำสีเขียวที่ทอดตัวอยู่ระหว่างผืนป่าเขาค้อกับอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง พร้อมกับชาวบ้านในพื้นที่และทีมนักวิจัยจากโรงเรียนเทศบาล ๓ อีก ๖ คน
เรือพาย ๓ ลำและไกด์ชาวบ้านรออยู่แล้ว ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด วันนี้เราคงได้เห็นแมงกะพรุนน้ำจืดแน่นอน ออกมากันตั้งแต่เช้าตรู่ ป้าแมวเมียจ่าเกรียงไกรเตรียมข้าวห่อสำหรับทุกคน กะว่าคงได้ปักหลักถ่ายรูป เก็บข้อมูลกันทั้งวัน
ตะวันข้ามหัวไปนานแล้ว เรือพายแล่นผ่านแก่งบางระจัน ๑ แก่งบางระจัน ๒ และแก่งบางระจัน ๓ ไปแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเห็นแมงกะพรุนสักตัว
“เห็นแมงกะพรุนขึ้นบ้างไหมลุง” ลุงจันทร์ตะโกนถามชายชราที่ล่องเรือสวนมา แกเพิ่งออกมาจากจุดเข็กสามง่า ต้นน้ำของลำน้ำเข็ก เป้าหมายสุดท้ายของเรา
“ไม่เห็นเลย แต่ได้ไอ้นี่มา” แกตอบพลางยกปลาตัวใหญ่ให้ดู ชาวบ้านเรียกปลาพุง เป็นปลาเกล็ดขนาดใหญ่เท่าต้นขา เมื่อก่อนมีเยอะแยะ แต่ทุกวันนี้หายากมาก ใครจับได้ต้องถือว่าโชคดี ทักทายกันพอรู้เรื่องว่าเดี๋ยวนี้แม่น้ำสายนี้ไม่เหมือนเดิม อย่าแปลกใจที่ปีนี้ไม่เห็นแมงกะพรุนเหมือนปีก่อนๆ
“พวกคุณอย่าเพิ่งหมดหวังนะครับ” อาจารย์ชนะศักดิ์ว่า “ปีนี้แมงกะพรุนขึ้นที่แก่งวังน้ำเย็นด้วย เราไปที่นั่นอาจจะยังพอมีอยู่ หากฝนไม่ตกลงมาซะก่อน”
เป็นอันว่าพวกเราไปไม่ถึงเข็กสามง่า บ่ายสามโมงจำต้องหันหัวเรือกลับ เตรียมเสบียง ขนข้าวของใส่รถไปปักหลักที่แก่งวังน้ำเย็น (เป็นแก่งหนึ่งในลำน้ำเข็ก) ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ....ขณะที่เมฆฝนเริ่มตั้งเค้ามาแต่ไกล |
|
เขาว่ากันว่า...
“เจอเป็นกลุ่ม ๆ เลย ผุดขึ้นผุดลงเต็มไปหมด”
“มันขึ้นมายุบยับเต็มไปหมดอย่างกับน้ำเดือดปุ๊ด ๆ เลย”
“ผมจับมาเลี้ยงใส่ในถังได้อาทิตย์เดียว มันหดลง ๆ แล้วก็หายไปเลย”
“ถ้าไม่ได้ไปไหน ผมก็นั่งดูมันทั้งวัน ว่ายไปว่ายมา พอเหนื่อยมันก็ลงไปนอนอยู่ก้นถัง”
“ผมเห็นมันผสมพันธุ์กันด้วย มันค่อย ๆ ว่ายเข้าประกบกันอย่างนี้เลย” ประโยคหลังนี้เป็นของจ่าเกรียงไกร ซึ่งเล่าพลางสาธิตวิธีเข้าประกบของแมงกะพรุนด้วยอุ้งมือทั้งสองข้าง ตั้งแต่มาถึงเพชรบูรณ์ เราได้ยินคนโน้นคนนี้พูดถึงแมงกะพรุนไม่ขาดปาก แต่คงไม่มีใครสนใจแมงกะพรุนจนถึงขั้นคลั่งไคล้มากเท่าจ่าเกรียงไกร สมนรินทร์ บ้านแกอยู่ห่างแก่งบางระจัน ๑ ไม่ถึงกิโลเมตร ส่วนใหญ่ใครจะมาดูแมงกะพรุนก็ต้องมาแวะที่ “ร้านเสาวรส” ก่อน นอกจากเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ แล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ทำการกลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองแม่นาที่จัดทัวร์ล่องแก่งอีกด้วย
ป้าแมวเมียจ่าเกรียงไกรทำอาหารอร่อยมาก สั่งพิสดารแค่ไหนแกก็ทำให้ได้ แต่เมนูหนึ่งที่แกไม่เคยทำเลยก็คือ เมนูแมงกะพรุน แกบอกว่า เห็นลุงจ่านั่งจ้องทั้งวัน ก็เลยดูด้วย ดูไปดูมามันก็น่ารักดี กินไม่ลง
“ไม่มีใครเอามากินหรอก ตัวใสแจ๋ว ไม่มีอะไรเลย มีแต่น้ำ” แกว่า
จ่าเกรียงไกรสังเกตเห็นตัวแปลกประหลาดที่ลำน้ำนี้มาหลายปีแล้ว นั่งตกปลาอยู่ดี ๆ ก็เห็นตัวอะไรไม่รู้ กลม ๆ ใส ๆ ว่ายยุบยับในแก่งน้ำ ตักขึ้นมาดูใกล้ ๆ ก็ไม่รู้ว่ามันคือตัวอะไร ต้นปี ๒๕๔๔ ลูกสาวที่ไปทำงานต่างจังหวัดกลับมาเยี่ยมบ้าน เห็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ใส ๆ ว่ายอยู่ในตู้ปลารูปร่างเหมือนแมงกะพรุนทะเล ก็เลยบอกพ่อว่าอาจจะเป็นแมงกะพรุนชนิดหนึ่งก็ได้ ด้วยความสงสัย จ่าเกรียงไกรจึงจับแมงกะพรุนไปให้นายอำเภอกมล สัจวิโรจน์ ดู
นายอำเภอท่องอินเทอร์เน็ตเข้าไปค้นในเว็บไซต์ต่างประเทศ แล้วก็ได้คำตอบว่ามันคือ Freshwater Jellyfish แมงกะพรุนน้ำจืดที่มีรายงานการค้นพบอยู่ไม่กี่แห่งในโลก แต่จะเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ยังไม่ทราบ ความน่ารัก แปลกประหลาดของแมงกะพรุนน้ำจืดพลอยทำให้นายอำเภอสนใจแมงกะพรุนไปด้วย ทั้งจ่าเกรียงไกรและนายอำเภอจับแมงกะพรุนจากแก่งหนองแม่นาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ บ้านมาเลี้ยงสังเกตพฤติกรรมอย่างละเอียด จนป้าแมวแซวเล่น ๆ ว่า สนใจแมงกะพรุนมากกว่าเมียอีก
ไม่มีใครรู้ว่าแมงกะพรุนมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไร ลำน้ำเข็กอยู่ห่างไกลผู้คน ไม่ถูกรบกวนมาช้านาน อำเภอเขาค้อเคยเป็นพื้นที่สีชมพู เป็นฐานทัพของ ผกค. เก่า หลังสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง ในปี ๒๕๒๕ รัฐจัดสรรพื้นที่ทำไร่ของ ผกค. ให้เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าทหารพราน โดยตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น ๓๓ หมู่บ้าน ๔ ตำบล ชาวตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ ส่วนใหญ่จึงเคยเป็นทหารพรานมาก่อน หรือไม่ก็เป็นลูกหลานทหารพรานที่อพยพมาจากที่อื่นทั้งนั้น
จะว่าไม่เคยมีใครเห็นแมงกะพรุนที่นี่มาก่อนก็ไม่ถูกนัก คนแถวนั้นบางคนบอกว่าเห็นมานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจเท่านั้นเองว่ามันคืออะไร จนกระทั่งจ่าเกรียงไกรเอาไปให้นายอำเภอดู สืบค้นจนรู้ว่าคือแมงกะพรุนน้ำจืด และกลายเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่วเมื่อต้นปี ๒๕๔๖ นั่นแหละ
นอกจากจ่าเกรียงไกรและนายอำเภอแล้ว อาจารย์ชนะศักดิ์ เทอดผดุงชัย และนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (ชาญวิทยา) จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจเจ้าสัตว์น้ำชนิดนี้อย่างจริงจัง ร่วมกันเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมแมงกะพรุนกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕
“ปรกติจะเห็นแมงกะพรุนตั้งแต่มีนาถึงเมษา พอเข้าพฤษภา ฝนตกก็ไม่ค่อยเห็นแล้ว” ฉลาด ขันทอง ชาวบ้านหนองแม่นาที่สนอกสนใจแมงกะพรุนไม่แพ้จ่าเกรียงไกรกล่าว ช่วงที่เราไปถึงเป็นปลายเดือนเมษา ยังไม่เข้าพฤษภา แต่ฝนทำท่าจะตกแล้ว ความหวังที่จะได้เห็นแมงกะพรุนในปีนี้ริบหรี่เต็มที กลัวว่าเที่ยวนี้พลาด อาจต้องรอถึงปีหน้าอย่างที่อาจารย์ชนะศักดิ์บอก
เราไปถึงแก่งวังน้ำเย็นเกือบมืด มองไปในเกาะแก่งไม่เห็นอะไรแล้ว กางเต็นท์ ทำกับข้าวแล้วเข้านอน พรุ่งนี้ค่อยเริ่มสำรวจ
ขออย่างเดียว ฝนอย่าเพิ่งตกมาก็แล้วกัน
การปรากฏตัวของเมดูซา
ตูม !!!
ร่างตุ้ยนุ้ยขนาด ๖๐ กิโลกรัมกว่า ๆ ของปวินท์ปะทะผิวน้ำแตกกระจาย อนุชา วันชัย อนุรักษ์ และสรรามธรกระโดดตามลงไปดำผุดดำว่ายอยู่ในแก่ง การได้มาเล่นน้ำเย็น ๆ ที่แก่งวังน้ำเย็นน่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักพอ ๆ กับความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับแมงกะพรุน ที่ดึงดูดให้เด็ก ๕-๖ คนนี้ยอมไม่ดูทีวี แต่ใช้เวลาเสาร์อาทิตย์มาสำรวจแมงกะพรุนที่นี่แทน
“ถ้าเรากวนน้ำ แมงกะพรุนจะขึ้นมาครับ” ปวินท์บอก
มันเป็นยามสายที่แสงแดดอบอุ่น แมงกะพรุนตัวแรกปรากฏตัวตอนสิบโมง อนุชาตัวเล็กแต่ตาไวเป็นผู้เห็นก่อน ถลาเข้าไปช้อนขึ้นมาใส่ขวดโหลให้พวกเราดูใกล้ ๆ แมงกะพรุนตัวเล็กเท่าเหรียญ ๑๐ บาท ใสและบอบบางราวกับวุ้นก้อนเล็กๆ
แล้วแมงกะพรุนตัวที่ ๒, ๓, ๔.... ก็เริ่มลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นพลาสติกใส ๆ กลม ๆ ขนาดเล็กลอยไปลอยมามากกว่าที่จะเป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ช่างภาพจับแมงกะพรุน ๑๐ กว่าตัวใส่ตู้ปลาที่เตรียมมาสำหรับถ่ายภาพนี้โดยเฉพาะ พอเทลงไป มันดุ๊กดิ๊กไปมาราวกับปลาตื่นตู้
อยู่ในน้ำเรามองมันไม่ชัด แต่อยู่ในตู้ปลา เรามองเห็นมันทะลุถึงเครื่องในที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้น (เพราะตัวมันใสมาก) ลำตัวเหมือนร่มคันเล็ก ๆ สองชั้นซ้อนกันอยู่ มีก้านร่มเป็นรัศมีอยู่ ๔ อัน แต่ละก้านมีถุงขาว ๆ ยื่นออกมา ใต้จุกร่มมีช่องยื่นออกมาเหมือนจะเป็นปาก (หรืออาจจะเป็นรูตูดก็ได้) ตรงขอบร่มมีเยื่อบาง ๆ กว้างประมาณ ๓-๕ มิลลิเมตร และมีหนวดใสๆ อยู่รายรอบเต็มไปหมด ถ้าเพ่งดูดีๆ จะเห็นว่าหนวดใส ๆ ของมันนั้นมี ๓ ขนาด ที่เห็นชัด ๆ ยาวประมาณ ๑-๒นิ้ว (เรียกว่าหนวดยาว ๆ ก็แล้วกัน) ชั้นที่ ๒ เป็นหนวดหยิม ๆ ยาวประมาณครึ่งนิ้วและเส้นเล็กกว่าหน่อย และหนวดชั้นที่ ๓ เป็นหนวดหยอย ๆ บางและสั้นเหมือนขนตา ตรงก้านร่มนั้นจะต่อออกมาเป็นหนวด ๔ เส้นที่ยาวและแข็งแรงกว่าเพื่อน
เยื่อบาง ๆ หนวดยาว ๆ หยอย ๆ หยิม ๆ พวกนี้ ทำหน้าที่อะไรยังไม่ทราบ อาจารย์ชนะศักดิ์สันนิษฐานว่า น่าจะเอาไว้ใช้จับสัตว์ตัวเล็ก ๆ ในน้ำอย่างพวกแพลงก์ตอน หรืออาหารอื่น ๆ อนุชาเดาว่าน่าจะเอาไว้พยุงตัว บังคับการเคลื่อนไหว ส่วนปวินท์ค่อนข้างมั่นใจว่าเอาไว้ไล่ศัตรูที่จะเข้ามาใกล้ ยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่แน่ ๆ ลองจับดูแล้ว ไม่เจ็บ ไม่คัน เอาเป็นว่าในเบื้องต้นแมงกะพรุนไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังมนุษย์ แต่จะมีพิษและทำอันตรายกับสัตว์อื่น ๆ หรือเปล่านั้น ยังไม่แน่ใจ |
 |
วันนั้นทั้งวันเราเอาแต่นั่งจ้องแมงกะพรุน มีอยู่ตัวหนึ่งที่เป็นขวัญใจของพวกเรา เพราะท่าเต้นมันน่ารักมาก ไม่เหมือนแมงกะพรุนตัวไหนเลย คุณผู้อ่านลองจินตนาการถึงหญิงสาวนุ่งกระโปรงบานพลิ้วยามอยู่บนฟลอร์เต้นรำ เธอส่ายเอวและสะโพกซ้ายทีขวาทีตามจังหวะดนตรีอย่างเมามัน บางจังหวะก็ย่อตัวแล้วกระโดดตัวลอยจนชายกระโปรงพะเยิบพะยาบ เธอเต้นอยู่อย่างนั้น ไม่มีทีท่าว่าจะเหนื่อย
ขอบร่มที่หุบเข้า-ออก ทำให้แมงกะพรุนเคลื่อนไหวได้ตามใจ พอว่ายขึ้นไปถึงผิวน้ำมันก็สยายหนวด ทิ้งตัวลงมาถึงก้นตู้ บางตัวก็คว่ำร่มลงมา บางตัวก็หงายลงมา แน่นิ่งอยู่ก้นตู้ สักพักก็ว่ายขึ้น บางตัวก็หงาย บางตัวก็คว่ำ ส่วนหนวดนั้นก็อยู่ในท่าทางร้อยแปดแตกต่างกันไป ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมบางตัวชอบว่ายเฉียง ๆ บางตัวก็ว่ายขึ้นลงตามแนวดิ่ง พอกระดึ๊บตัวขึ้นไปจนถึงผิวน้ำก็ทิ้งตัวลงก้นตู้ สักพักก็ดันตัวขึ้นไปใหม่ แต่บางตัวยืดหนวดออกแล้วปล่อยตัวคว้างลงมาแน่นิ่งกลางน้ำ ตอนแรกนึกว่ามันตาย แต่แป๊บเดียวก็กระดึ๊บ ๆ ขึ้นมาเต้นอีก
จากประสบการณ์ที่เก็บแมงกะพรุนมาเลี้ยงแล้วทำตายไปหลายตัว อนุรักษ์บอกว่า เวลามันใกล้ตาย สังเกตได้จากกิริยาว่ายน้ำ มันจะว่ายแผ่ว ๆ พอถึงก้นตู้จะทำท่าพะงาบ ๆ เหมือนคนใกล้หมดลมหายใจ
“ถ้าหนวดหงิกๆ งอๆ ติดขอบร่มก็แปลว่าตายแล้วแน่ๆ ครับ” อนุรักษ์ฟันธงอย่างมั่นใจ โชคดีที่แมงกะพรุนที่อยู่ในตู้ตอนนี้ไม่มีตัวไหนที่มีอาการดังกล่าว
“ผมเคยเห็นมันขึ้นมาเต็มไปหมด เหมือนน้ำเดือดเลย” คุณสอง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าให้ฟัง ทุกครั้งที่ทีมวิจัยมาศึกษาเรื่องแมงกะพรุนที่นี่ เขาต้องตามมาสมทบด้วยเสมอ ปรากฏการณ์ที่แมงกะพรุนพร้อมใจกันโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำมากผิดปรกติ เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมปี ๒๕๔๗ จากนั้นก็ไม่มีใครเห็นปรากฏการณ์นี้อีก
“พอมีคนรู้ว่าที่น้ำเข็กมีแมงกะพรุน นักท่องเที่ยวก็มาเที่ยวมากขึ้น บางคนมาจับไปขายให้พ่อค้าตัวละ ๖๐ บาท” ฉลาด เข็มทอง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์หนองแม่นาเล่าให้ฟัง
แมงกะพรุนไม่ใช่ปลา ไม่ใช่หอย ที่เอาอะไรให้กินมันก็กิน หลายคนที่เอาแมงกะพรุนไปเลี้ยง จึงพบว่าอยู่ได้ไม่กี่วันก็ตาย
“ถ้ามีคนมาแอบจับไปมากๆ เราก็กลัวจะสูญพันธุ์ เราอยากอนุรักษ์มันไว้ ให้มันอยู่ที่นี่ตลอดไป” จ่าเกรียงไกร ในฐานะประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าว อย่างน้อย ตอนนี้แมงกะพรุนก็เป็นพระเอกของลำน้ำเข็กที่ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่ ชาวบ้านพอมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากการเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่น พานักท่องเที่ยวล่องเรือ แต่เมื่อแมงกะพรุนถูกขโมยเช่นนี้ ชาวบ้านตำบลหนองแม่นาทั้ง ๖ หมู่บ้านจึงรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองแม่นาขึ้น นอกจากช่วยกันดูแลป่าไม้แล้ว พวกเขายังจัดระบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ใครจะมาล่องเรือชมธรรมชาติในลำน้ำเข็กต้องมาติดต่อทางกลุ่มเสียก่อน นอกจากจะอำนวยความสะดวกเรื่องต่าง ๆ เช่น เรือล่องแก่ง เสื้อชูชีพ และมัคคุเทศก์ท้องถิ่นแล้ว ทางกลุ่มยังกำหนดระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ใครแอบจับแมงกะพรุนไปขายอีก
ศูนย์กลางของกลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองแม่นาอยู่ที่ร้านเสาวรสบ้านจ่าเกรียงไกรนั่นเอง ใครจะมาล่องเรือเที่ยวป่าแถบนี้ ต้องมาแวะที่นี่ คนที่สนใจจะมาดูแมงกะพรุนส่วนใหญ่ก็จะแวะคุยกับจ่าเกรียงไกรก่อน ร้านเสาวรสจึงเป็นที่ตั้งหลักเวลาทีมนักวิจัยน้อยจากโรงเรียนเทศบาล ๓ มาลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วย
จะกล่าวว่าแมงกะพรุนกลายเป็นพระเอกของลำน้ำสายนี้ไปแล้วก็ว่าได้ เมื่อข่าวสารถูกเผยแพร่ออกไป (รวมทั้งจากสารคดีชิ้นนี้ด้วย) ใครหลายคนมุ่งหน้าอยากจะมาดูแมงกะพรุนน้ำจืด งานวิจัยเพื่อศึกษาพฤติกรรมแมงกะพรุนสายน้ำเข็กที่จังหวัดเพชรบูรณ์ของอาจารย์ชนะศักดิ์และนักเรียนชั้นมัธยมต้นกลุ่มนี้ก็เกิดจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ ครูและนักเรียนกลุ่มนี้ช่วยกันหาข้อมูลของแมงกะพรุนจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ เอากลับมาเลี้ยงเพื่อสังเกตพฤติกรรม (ซึ่งก็มักจะอยู่ได้ไม่นาน) จัดทำข้อมูลเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ที่นักเรียนทำกันเอง ไม่มีงบประมาณ ไม่มีค่าจ้างแรงงาน ครูก็สนุก นักเรียนก็ชอบที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
“เราไม่มีความรู้พื้นฐานกันมาก่อน มันเหมือนเริ่มที่ศูนย์เลย ผมเป็นอาจารย์ทางด้านคอมพิวเตอร์ อยากให้นักเรียนได้ใช้คอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์ พอดีกับที่ผมสนใจแมงกะพรุน ก็เลยชวนนักเรียนมาร่วมกันทำวิจัยเรื่องนี้ หาข้อมูลแมงกะพรุนจากต่างประเทศ และเอาข้อมูลที่เราไปเก็บมาจากพื้นที่มาจัดทำเป็นเว็บไซต์ เป็นการบูรณาการความรู้หลายสาขาเข้าด้วยกัน นักเรียนก็ได้เรียนเรื่องคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันก็ได้เรียนวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ได้รู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และได้สัมพันธ์กับชาวบ้านด้วย” อาจารย์ชนะศักดิ์กล่าว แรกทีเดียวก็ทำกันเอง ใช้งบตัวเอง ปีที่แล้วสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้ามาสนับสนุนเพื่อผลักดันการศึกษาเรื่องนี้ให้เดินต่อไปได้ |

|
นอกจากอาจารย์ชนะศักดิ์และนักเรียนทั้ง ๖ คนแล้ว ก็มีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์บ้านหนองแม่นาที่คอยสำรวจแก่งบางระจันแล้วแจ้งข่าวให้แก่กลุ่มวิจัยว่า ตอนนี้แมงกะพรุนขึ้นที่ไหนอย่างไรบ้าง อีกส่วนหนึ่งก็คือ คุณสองและคุณหน่อย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ที่รับหน้าที่สังเกตการปรากฎตัวของแมงกะพรุนตรงแก่งวังน้ำเย็น ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
ในปีหนึ่ง ๆ พวกเขามีเวลาเก็บข้อมูลในพื้นที่เป็นระยะสั้น ๆ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนเท่านั้น พ้นจากนี้ไปแมงกะพรุนก็หายไปหมด ต้องรอปีถัดไป ซึ่งก็ไม่แน่ว่ามันจะปรากฏตัวอีกหรือไม่
แต่ละครั้งที่ลงมาเก็บข้อมูล (และจับไปใส่ตู้ปลาที่บ้าน) พฤติกรรมต่าง ๆ ที่สังเกตเห็นเป็นเหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ความเข้าใจเรื่องแมงกะพรุนชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีใครรู้แน่ว่ามันกินอะไรเป็นอาหาร ? ทำไมบางปีก็โผล่มาให้เห็น บางปีก็ไม่เห็น ? ช่วงที่หายไป มันมีชีวิตอยู่หรือเปล่า หรือแปลงกายหลบอยู่ตรงไหน ? แมงกะพรุนสำคัญกับแม่น้ำเข็กอย่างไร ทำไมมีที่นี่ แต่ไม่มีในที่อื่น ๆ ?
มากมายหลายคำถามที่พวกเขายังหาคำตอบไม่ได้ แต่มันคือปริศนาที่พวกเขาอยากจะช่วยกันไขให้ได้
แกะรอยแมงกะพรุน
วันที่ ๒, ๓ และ ๔ ที่แก่งวังน้ำเย็น ไม่ได้ทำให้เราได้เห็นอะไรคืบหน้าไปกว่านี้ โดยเฉพาะวันที่ ๓ และวันที่ ๔ แมงกะพรุนโผล่มาให้เห็นแค่ ๓-๔ ตัว พวกเราไม่ตื่นเต้นเท่าวันแรกแล้ว
กลับมาจากหนองแม่นา คำถามต่างๆ ยังไม่คลี่คลาย เท่าที่สืบค้นดูงานวิจัยของไทย มีการศึกษาจริงๆ จังๆ น้อยมาก ต่างจากพวกปลา กุ้ง หรือหอย ที่มีคนศึกษาไว้แทบจะทุกซอกทุกมุม ข้อมูลเรื่องแมงกะพรุนน้ำจืดส่วนใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ในหนังสือ มักจะระบุแค่ว่ามีสัตว์ชนิดนี้อยู่เท่านั้น อย่างมากก็บอกว่าเคยเจอนานมาแล้วที่ไหน แต่ไม่มีรายละเอียดมากนัก
ในหนังสือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ผศ. สุรินทร์ มัจฉาชีพ เขียนไว้ว่า “เท่าที่มีรายงานในประเทศไทยนั้น ดร. คลุ้ม วัชโรบล ได้รายงานว่า กะพรุนน้ำจืดอาศัยในแหล่งที่น้ำขังเฉพาะฤดูฝนและแห้งในฤดูแล้ง ผู้เขียนเองเคยพบอยู่ในบ่อน้ำทิ้งของพิพิธภัณฑ์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม มศว. บางแสน เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นบ่อซีเมนต์มีฝาปิด ภายในบ่อมีไรน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของแมงกะพรุนน้ำจืดที่พบเป็นรูปครึ่งวงกลม โค้งนูน เมนูเบรียมเป็นกระบอกปลายมน มีเวลัมและมีปุ่มอวัยวะรับสัมผัสจำนวน ๑๖ แห่ง ซึ่งเป็นปมขนาดใหญ่ ๘ แห่ง สลับกับปมขนาดเล็กอีก ๘ แห่ง ว่ายน้ำโดยการกระพือขอบร่มเป็นจังหวะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ มิลลิเมตร”
วีระ โพธิ์ทอง พบแมงกะพรุนน้ำจืดในประเทศไทยในปี ๒๕๐๔ ที่หมู่บ้านคกไผ่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ ๓๘ กิโลเมตร ในช่วงที่แม่น้ำโขงลดลงช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยพบว่ามีการกระจายตั้งแต่ปากแม่น้ำเหือง บ้านคกงิ้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ถึงบ้านหนอง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย พบในหนองน้ำตามชายฝั่งแม่น้ำโขงช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนพฤษภาคม
หลังจากนั้น ๔๐ กว่าปี อุรศรี สูยะศุนานนท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กลับมาศึกษาอีกครั้งในพื้นที่เดียวกัน เพื่อหาข้อมูลเปรียบเทียบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขงในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบกับปริมาณประชากรของแมงกะพรุนน้ำจืดหรือไม่
และผลก็เป็นอย่างที่เราคาดคิด การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อประชากรของแมงกะพรุนน้ำจืดและระยะเวลาในการค้นพบด้วย อุรศรีเริ่มพบแมงกะพรุนน้ำจืดในพื้นที่นี้ตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงพฤษภาคม ขึ้นอยู่กับว่า ตรงจุดไหนน้ำขึ้นน้ำลงเร็วกว่ากัน โดยจุดที่น้ำลงเร็วจะพบแมงกะพรุนน้ำจืดเร็วด้วย ส่วนจำนวนประชากรนั้นบางจุดก็เพิ่มขึ้น บางจุดก็ลดลง
รายงานข้างต้นเป็นข้อมูลที่มีการศึกษาและบันทึกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ที่ไม่เป็นทางการนั้น คล้อยหลังที่ข่าวการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดที่เพชรบูรณ์เผยแพร่ในเว็บไซต์ของนักวิจัยโรงเรียนเทศบาล ๓ ก็มีคนเข้ามาแจ้งข่าวว่าเคยไปเจอที่ไหนมาบ้าง บางคนว่าเคยเจอในแก่งที่แม่น้ำโขง จังหวัดเลย ที่บ่อน้ำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เคยมีคนเจอ ที่บึงบอระเพ็ดก็เคยมีคนจับได้ (ไม่รู้ว่าตัวอะไร แต่รูปร่างเหมือนกันเปี๊ยบเลย)
ความจริงดังนี้ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า เดิมทีคงมีแมงกะพรุนน้ำจืดอยู่ที่อื่น ๆ ด้วย แต่อาจจะสูญหายไปจากแหล่งน้ำเหล่านั้นไปแล้ว เหมือนอย่างที่จังหวัดน่าน แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีใครสำรวจพบแมงกะพรุนน้ำจืด แต่คนเฒ่าคนแก่ที่โน่นรู้จักและเรียกสัตว์ลักษณะนี้ว่า “แมงยุ้มวะ” บางคนก็เรียกว่า “แม่ยุ้ม” ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า ที่จังหวัดน่านก็เคยมีแมงกะพรุนน้ำจืดด้วยเช่นกัน เพียงแต่พวกเขาไม่รู้ว่าคือแมงกะพรุนน้ำจืด ไม่รู้จัก freshwater jellyfish แต่เรียกมันตามพฤติกรรมของมันที่ขยุ้มตัวแล้วคลายว่า ยุ้ม วะ ยุ้ม วะ
แม้จะมีข่าวว่าพบแมงกะพรุนน้ำจืดในที่อื่น ๆ ด้วย แต่เห็นจะไม่มีที่ไหนชุกชุมและเหลืออยู่มากเท่ากับที่ลำน้ำเข็กอีกแล้ว
แมงกะพรุนน้ำจืดไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ก่อนหน้านั้นก็มีรายงานการค้นพบในประเทศอื่น ๆ ด้วย
ในปี ค.ศ. ๑๘๘๐ มีรายงานการค้นพบครั้งแรกเมื่อ ที่ประเทศอังกฤษ พบแมงกะพรุนน้ำจืดตามทะเลสาบเล็ก ๆ สระน้ำและแหล่งน้ำขังในช่วงฤดูร้อน (กรกฎาคมถึงตุลาคม) และพบน้อยลงในปลายฤดูหนาว เป็นแมงกะพรุนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕-๒๒ มิลลิเมตร
|
 |
ในสหรัฐอเมริกามีรายงานของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียว่าพบแมงกะพรุนน้ำจืดในแหล่งน้ำหลายประเภท ได้แก่ สระน้ำ แหล่งน้ำขัง บ่อน้ำที่เป็นกรวด ทะเลสาบ บ่อตกปลา และบริเวณที่ล่องเรือ โดยพบจำนวนมากในหน้าร้อน (สิงหาคมถึงกันยายน ) รัฐที่พบมากคือ เพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีทะเลสาบน้ำอุ่น
นอกจากนี้ประเทศแคนาดา ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์ ก็มีรายงานการพบแมงกะพรุนน้ำจืดเช่นกัน แต่ที่มีการศึกษาอย่างจริงจังมากที่สุดเห็นจะเป็นที่รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
นอกจากพฤติกรรม ความมหัศจรรย์ของชีวิตน้อย ๆ (เป็นต้นว่า ถ้าตัดตัวมันครึ่งหนึ่ง มันจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้) รวมถึงวงจรชีวิตที่น่าสนใจของมันแล้ว ยังมีข้อมูลบางส่วนระบุว่า ไม่ค่อยพบแมงกะพรุนน้ำจืดที่เป็นเมดูซาเพศผู้และเพศเมียอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดียวกัน เช่นที่นิวซีแลนด์มีการบันทึกว่าเจอแต่เมดูซาเพศผู้เท่านั้น เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักวิจัยจากสถาบัน IUP Research ต้องการไขปริศนาเกี่ยวกับมันให้ได้ ไม่นับว่าบางวันนักวิจัยอาจได้เจอปรากฏการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ เช่นแมงกะพรุนน้ำจืดมาปรากฏตัวให้เห็นพร้อม ๆ กันจำนวนมาก ซึ่งทีมวิจัยจากโรงเรียนเทศบาล ๓ ให้คำอธิบายว่า น่าจะเกิดจากการที่ในวันนั้นมีอากาศเหมาะสม เกิดแพลงก์ตอนมากกว่าปรกติ ทำให้แมงกะพรุนขึ้นมากินแพลงก์ตอนมากตามไปด้วย พวกเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Bloom” ซึ่งอาจจะเป็นกรณีเดียวกับที่คุณสองและชาวบ้านบอกว่า มันผุดขึ้นพร้อมกันอย่างกับน้ำเดือดปุดๆ ก็ได้
ปริศนาเหล่านี้อาจจะเป็นความสนุกและความท้าทายเล็ก ๆ สำหรับนักวิจัยหลายคน
ความลับของเมดูซา
ชาวบ้านและนักวิจัยที่หนองแม่นาต่างสงสัยกันว่า ระหว่างที่แมงกะพรุนน้ำจืดไม่มาปรากฏตัวให้เห็นนั้น มันไปอยู่ที่ไหนตลอดช่วงที่น้ำไหลหลาก แมงกะพรุนน้ำจืดไปอยู่ที่ไหน ในช่วงที่อากาศหนาวจัด มันดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร
เจนยู ซาซากิ (Gen-yu Sasaki) เป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะหมกมุ่นกับวงจรชีวิตและการสืบพันธุ์ของแมงกะพรุนน้ำจืดมากเป็นพิเศษ เขาจับแมงกะพรุนน้ำจืดมาไว้ในอ่างเลี้ยงแล้วสังเกตพฤติกรรม ถ่ายรูปวงจรชีวิตของมันอย่างใกล้ชิด เขาเริ่มเลี้ยงแมงกะพรุนน้ำจืดช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นเวลาประมาณ ๑ เดือน โดยใช้เมดูซา (เมดูซาคือแมงกะพรุนในระยะที่มีรูปร่างเป็นร่มหรือกระดิ่งที่เราเห็นตามแหล่งน้ำต่างๆ วงจรชีวิตในระยะเป็นเมดูซานี้จะมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ) เพศเมีย ๒ ตัวที่เขาเลี้ยงไว้เอง และนำเมดูซาเพศผู้จากเมืองนาโกยามาเลี้ยงไว้ในที่เดียวกัน
เจนยูพบว่า เมดูซาตัวผู้ปล่อยสเปิร์มลอยไปในน้ำ ขณะที่เมดูซาตัวเมียก็ปล่อยไข่ไปในน้ำ เมื่อไข่และสเปิร์มว่ายน้ำมาเจอกัน ก็จะรวมตัวกันกลายเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า พลานูลา รูปร่างเหมือนหนอนแต่ขนาดจิ๋วประมาณ ๐.๘๐ มิลลิเมตร เป็นตัวอ่อนที่คลานอยู่ใต้ผิวน้ำ ก่อนจะค่อยๆ กลายเป็นโพลิปอันเล็ก ๆ รูปร่างคล้ายกิ่งไม้ โพลิปจะเกาะอยู่กับวัสดุใต้น้ำ แล้วค่อยๆ เติบโตเป็นโพลิปเต็มวัย มันอยู่อย่างนั้นจนได้เวลาที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม ส่วนปลายของโพลิปที่คล้ายร่มหงายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จะค่อย ๆ หลุดออกมาทีละชั้น กลายเป็นเมดูซา ลองจินตนาการถึงดอกมะลิซ้อน หรือร่ม (ที่มีหนวดตรงขอบร่ม) หงายซ้อนกันอยู่เยอะๆ แล้วค่อยๆ หลุดออกมาทีละอัน ๆ จากร่มอันเล็ก ๆ จากนั้นก็ค่อย ๆ โต หนวดค่อยยาวขึ้น กลายเป็นแมงกะพรุนให้เราเห็นอีกครั้ง วิธีสืบพันธุ์แบบนี้เป็นการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
แต่ในธรรมชาติ บางปีก็ไม่มีแมงกะพรุนขึ้นมาในเห็น อีก ๒-๓ ปีมันถึงปรากฏขึ้นอีกครั้ง แล้วระหว่างนั้นมันหายไปไหน มันเกาะตัวกันเป็นโพลิปอย่างนั้นตลอด ๒ ปีเลยหรือไม่
การเลี้ยงแมงกะพรุนน้ำจืดของเจนยูทำให้พบว่า นอกจากแมงกะพรุนจะสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศในช่วงที่เป็นเมดูซาแล้ว ระหว่างที่มันไม่ได้ขึ้นมาผสมพันธุ์กันบนผิวน้ำ ข้างใต้น้ำที่เรามองไม่เห็นนั้น มีชีวิตใหม่ ๆ เกิดขึ้นยุบยับไปหมด
โพลิปที่เกาะอยู่พื้นผิวหรือวัตถุใต้น้ำนั้น สามารถแตกหน่อ หลุดออกมาเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า frustules ซึ่งมีลักษณะคล้ายตัวอ่อนที่เกิดจากการผสมพันธุ์จากไข่และสเปิร์มได้อีกด้วย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่านิดหน่อย คือประมาณ ๐.๙๕ มิลลิเมตร ตัวอ่อนที่เกิดจากการแตกหน่อ จะอาศัยอยู่ใต้ท้องน้ำ คลานต้วมเตี้ยมหาอาหารไปเรื่อย ๆ เมื่อได้เวลาที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นโพลิปตัวใหม่ วิธีนี้เป็นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
ใต้ผืนน้ำที่เรามองไม่เห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตใดอยู่บ้างนั้น จึงมีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อยู่เต็มไปหมด
ส่วนเรื่องอาหารการกินของแมงกะพรุนนั้น นักวิจัยไทยแลนด์ของเราลองมาหมดแล้ว ทั้งเอาอาหารปลา อาหารเป็ด ไข่ต้มสุก กะปิ ไรแดง แพลงก์ตอน ฯลฯ ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแมงกะพรุนน้ำจืดตัวใสๆ และไม่เห็นว่ามันจะมีกระเพาะ มีปาก มีลำไส้อยู่ตรงไหน กินอะไรเป็นเรื่องเป็นราว
เจนยูพบว่า แมงกะพรุนกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร มันกินเข้าไปทางปาก หรือเมนูเบรียมที่อยู่ตรงกลางร่ม เป็นช่องเดียวที่ทั้งเอาเข้าและเอาออก ส่วนถุงขาวๆ ทั้ง ๔ ถุงที่อยู่กลางเส้นรัศมีหรือก้านร่มนั้น เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ เรียกว่า โกแนด หาใช่กระเพาะอาหารอย่างที่คาดเดากันแต่แรกไม่ |
สัตว์ดึกดำบรรพ์
ถ้าอ้างตามทฤษฎีวิวัฒนาการของโลกที่เชื่อกันว่า โลกเกิดมาเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ กว่าล้านปีที่แล้ว จากนั้นราเมือกก็ค่อยๆ พัฒนามาเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเมื่อประมาณ ๗๕๐ ล้านปีที่แล้ว โดยเกิดขึ้นในทะเลก่อน ซึ่งรวมถึงแมงกะพรุนด้วย ต่อมาสัตว์พวกนี้มีวิวัฒนาการแยกเป็นสองสาย คือ สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง และมีกระดูกสันหลัง เป็นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นนก เป็นไดโนเสาร์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นลิง และมาถึงไพรเมต จนมี โฮโม เซเปียน เซเปียนส์ ทุกวันนี้ ก็นับว่าแมงกะพรุนเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่สามารถดำรงชีวิต ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมาได้อย่างยาวนาน ขณะที่สัตว์ใหญ่และเกิดทีหลังตั้งหลายพันล้านปีอย่างไดโนเสาร์กลับสูญพันธุ์ไปสิ้น
ในหนังสือเกี่ยวกับฟอสซิล มีฟอสซิลสัตว์ตัวโน้นตัวนี้เยอะไปหมด แต่ไม่เคยพบว่ามีฟอสซิลแมงกะพรุนน้ำจืดเลย ซึ่งก็คงยากที่เราจะเจอ เพราะว่าเนื้อตัวของมันนั้นประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ นักวิจัยบางคนบอกว่าร่างกายของแมงกะพรุนน้ำจืดประกอบด้วยน้ำร้อยละ ๙๕ บางคนบอกว่าร้อยละ ๙๙ แต่ไม่ว่าจะมีน้ำอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ พอตาย มันก็แทบจะสลายไปเลย
ตอนที่ไปเก็บข้อมูล เราเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วไว้ในกลักฟิล์ม อยากรู้ว่าถ้าตายแล้วมันจะขึ้นอืดหรือแข็งตัวเหมือนแมงกะพรุนในชามเย็นตาโฟหรือไม่ ปรากฏว่ารุ่งเช้ามองไม่เห็นอะไรเลย ตัวมันเปื่อยยุ่ยแบบไม่เหลือซาก ละลายเป็นเนื้อเดียวกับน้ำไปเสียอย่างนั้น เขาว่า ถ้าเอาไปตากแดด แป๊บเดียวมันจะมีสภาพเหมือนฟิล์มใส ๆ หรือคราบอะไรสักอย่าง ไม่หลงเหลือร่องรอยที่จะพิสูจน์ซากได้ว่ามันเป็นแมงกะพรุนมาก่อน (อันนี้ยังไม่ได้ลองค่ะ วันนั้นมีแมงกะพรุนถูกช่างภาพจับถ่ายรูปจนขาดใจตายแค่ตัวเดียว)
แมงกะพรุนอยู่ในไฟลัม Cnidaria ซึ่งได้แก่พวกดอกไม้ทะเล กัลปังหา ปะการัง ไฮดรา ฯลฯ กลุ่มนี้จะมีลักษณะสมมาตรแบบรัศมี กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Craspedacusta แต่ชื่อเล่นที่เรียกกันแล้วเข้าใจง่ายคือ Freshwater Jellyfish แปลตรงตัวว่า แมงกะพรุนน้ำจืดนั่นเอง
Hutchison แบ่งแมงกะพรุนน้ำจืดออกเป็น ๓ ชนิดคือ Craspedacusta sowerbyi (หรือบางทีก็เขียน Craspedacusta sowerbii ), Craspedacusta sinensis และ Craspedacusta iseana ความแตกต่างของทั้ง ๓ ชนิดนี้ อยู่ที่ลักษณะการเรียงตัวของหนวดและแหล่งที่อยู่อาศัย ส่วนพฤติกรรมและวงจรชีวิตนั้นแทบจะไม่มีอะไรต่างกันเลย
แมงกะพรุนน้ำจืดที่พบแถบอเมริกาและยุโรปส่วนใหญ่เป็น Craspedacusta sowerbyi ขณะที่สายพันธุ์ที่พบในแถบเอเชียมักจะเป็น Craspedacusta sinensis แมงกะพรุนที่น้ำโขงเป็นสายพันธุ์ Craspedacusta sinensis แต่ตรงจุดเข็กสามง่ายังไม่มีการระบุว่าเป็นชนิดอะไร เพราะบางตัวที่เจอก็มีหนวดที่ทำให้คิดว่าเป็น Craspedacusta sinensis แต่บางตัวก็มีลักษณะกระเดียดไปทาง Craspedacusta sowerbyi
แมงกะพรุนน้ำจืดที่ลำน้ำเข็กจึงยังเป็นปริศนาให้นักวิจัยต้องหาคำตอบให้ได้ว่ามันเป็นสายพันธุ์ไหนกันแน่
แต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ พวกนี้ สำคัญขนาดที่เราต้องลงทุนลงแรงศึกษา เจาะลึกมันขนาดนี้เลยหรือ
“เพราะแมงกะพรุนน้ำจืดไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจไง เอาไปเลี้ยงก็ตาย เพาะพันธุ์ขายก็ไม่ได้ ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครสนใจจะมาสนับสนุนการทำงานวิจัยหรือศึกษามันอย่างจริงจัง ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่วิจัยแล้วก็สามารถเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ” นักวิชาการด้านสัตว์น้ำคนหนึ่งให้ความเห็น
ถ้าวัดความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ มันอาจจะดูไร้เหตุผลที่ต้องลงทุนลงแรงกับสัตว์ที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้อย่างแมงกะพรุนน้ำจืด
แต่บ่อยครั้งที่เราพบว่า คนบางคน บางกลุ่ม ทำอะไรด้วยแรงผลักดันที่ไม่ได้มาจากเหตุผลความคุ้มค่าที่เป็นเม็ดเงินเลยแม้แต่น้อย
|
ชะตากรรมของเมดูซา
ผืนป่าเขาค้อ-สายน้ำเข็กที่หลุดรอดจากสายตามนุษย์มานาน จนกระทั่งปี ๒๕๒๕ ก็เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานถาวรขึ้น จากแม่น้ำสายบริสุทธิ์ ปัจจุบันเริ่มมีสารเคมีจากไร่นาปนเปื้อน ข้าราชการบางคนเอาปลาที่ไม่ใช่พันธุ์ท้องถิ่นมาปล่อยจนมันรุกราน “เจ้าถิ่น” อย่างปลาพุง ปลาสร้อย จนแทบไม่เหลือหลอ
ชาวหนองแม่นาและนักวิจัยมือสมัครเล่นเหล่านั้นไม่มีเหตุผลที่น่าทึ่งพอจะบอกได้ว่า ทำไมพวกเขาต้องศึกษาและอนุรักษ์แมงกะพรุนน้ำจืดเพื่อให้มีอยู่ในสายน้ำเข็กไปนานๆ ไม่มีความรู้พอที่จะบอกว่า ถ้าหากแมงกะพรุนน้ำจืดเหล่านั้นสูญพันธุ์ไปจากลำน้ำเข็ก มันจะกระทบหรือไม่กระทบอะไรกับระบบนิเวศลำน้ำเข็กบ้าง
บางทีการอยู่หรือการจากไปของแมงกะพรุนน้ำจืดอาจจะไม่มีผลสะเทือนอะไรเลย เหมือนที่มันเคยมีในแหล่งน้ำอื่น ๆ แล้วหายไปโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
แต่ก็ด้วยความรู้สึกธรรมดาที่ว่า ชอบมัน เพราะมันดูน่ารักดี อยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไรนี่เอง ที่ทำให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งได้ออกมาเรียนรู้แบบบูรณาการนอกห้องเรียน ทำให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมกลุ่มกันอนุรักษ์แม่น้ำ วางกฎกติให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ทรัพยากรอย่างเคารพธรรมชาติ
แม้ว่าปีนี้นักวิจัยกลุ่มนี้จะไม่ได้คำตอบอะไรมากนัก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เมื่อฤดูร้อนมาเยือนอีกครั้ง และน้ำในเกาะแก่งเริ่มสงบนิ่ง ชีวิตที่อยู่รายรอบลำน้ำเข็กจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
แม้จะยังไม่รู้ว่า แมงกะพรุนน้ำจืดจะปรากฏตัวให้เห็นอีกหรือไม่ |
|